ให้คำปรึกษาปัญหากฎหมาย

การทำนิติกรรม สัญญา การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ
คดีปกครอง ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษี เศรษฐกิจ คอมพิวเตอร์

ไม่รับปรึกษา
คดียาเสพติด คดีความมั่นคง และคดีอาญา
โดยทีมงานกฎหมายและสำนักงานทนายความ
ติดต่อได้ที่ kwmongkut@outlook.com

การศึกษาในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง:
จากหลักการสู่พระราชบัญญัติการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร. กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

บทนำ

บทความนี้เขียนขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีการนำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่ไม่ทันผ่านสภาฯ ในสมัยของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยนำกลับมาพิจารณารับฟังความเห็นและจะนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแทน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การบัญญัติกฎหมายการศึกษาของชาติในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลานี้ นับเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ต้องใช้ความพยายามและความสามารถอย่างมากที่จะได้กฎหมายที่ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกบริบทในสังคม และต้องสามารถวางแนวทาง สำหรับอนาคตการศึกษาของชาติได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

แนวทางของการศึกษาจึงต้องมีความชัดเจน และมีความเข้าใจตรงกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาดังนี้

  1. การศึกษาเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการและควบคุมโดยรัฐอย่างเคร่งครัด รัฐต้องไม่ปล่อยให้มีการจัดการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ อย่างเสรีในประเทศโดยปราศจากการควบคุมจากรัฐ
  2. รัฐต้องจัดให้มีหลักสูตรและการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และความต้องการของบุคคล เพื่อการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคล โดยเน้นความสงบสุข และการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นสำคัญ
  3. ประชาชนทุกคนต้องได้รับการศึกษาสำหรับการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีสัมมาอาชีพ และได้รับการศึกษาเพื่อการป้องกันประเทศ และการป้องกันตนเองจากภัยต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดชีพ
  4. การศึกษาของประเทศจะต้องทำให้ประชาชนมีความสามารถนำพาประเทศให้สามารถเป็นประเทศผู้นำของโลกในด้านต่างๆ การศึกษาต้องพัฒนาทั้งความสามารถทางสติปัญญา ทักษะ และจิตวิญญาณของประชาชนในการคิดค้น พัฒนา ถึงระดับเป็นผู้นำของมวลมนุษย์ชาติในทุกด้าน
  5. ระบบการศึกษาต้องมีการตรวจสอบ ปรับปรุง ทั้งหลักการ เป้าหมาย และกระบวนการ ตลอดจนวิธีการเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีระดับแนวหน้าของโลกตลอดไป

การวางหลักคิดทางการศึกษาเพื่อบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายเป็นความสำคัญอันดับแรก บทความนี้จะไม่กล่าวถึง รายละเอียดของปรัชญาการศึกษา ประวัติความเป็นมาของการศึกษาไทย สภาพปัญหาต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และไม่นำสาระต่างๆ ของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้มาเกี่ยวข้องเพราะจะทำให้ความเป็นอิสระทางความคิดถูกชักนำได้ โดยถือว่าผู้อ่านบทความนี้ หรือผู้ที่จะนำสาระในบทความนี้ไปใช้ ควรต้องมีองค์ความรู้ความเข้าใจปรัชญาการศึกษา เรื่องราวความเป็นมาและประเด็นต่างๆ ทางการศึกษาเป็นอย่างดีแล้ว หรือถ้ายังไม่เพียงพอก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่งต่างๆ ได้อย่างไม่ยากนักซึ่งต่างจากในอดีตช่วงก่อนที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรก หรือเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2542 มีความยากลำบากในการค้นหาข้อมูลมากกว่าในยุคปัจจุบัน

หลักคิดสำหรับวางแนวทางการบัญญัติกฎหมายทางการศึกษาเบื้องต้นมีดังนี้

หลักความรับผิดชอบของรัฐ

ประเทศไทยมีองค์ประกอบของความเป็นรัฐครบถ้วนโดยเฉพาะมีอำนาจอธิปไตย มีประชาชน มีดินแดน ที่ต้องรับผิดชอบ ในทางการศึกษานั้นอำนาจในการจัดการศึกษาของราชอาณาจักรไทยต้องเป็นของรัฐบาลไทยเท่านั้นผู้ใดจะใช้อำนาจนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ใช้อำนาจนี้ได้เท่านั้นทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ดังนั้น กฎหมายต้องให้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ในการจัดการศึกษา เป็นสาระสำคัญด้านความมั่นคงของชาติ จะให้ผู้ใด ชาติใด หรือองค์กรใดมาจัดการศึกษาในราชอาณาจักรนี้ ตามอำเภอใจไม่ได้ ที่สำคัญกว่านั้นคือรัฐถูกบังคับโดยกฎหมายต้องสนับสนุน ทั้งงบประมาณและอื่นๆ เพื่อการศึกษาอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องส่งเสริมให้การศึกษาของชาติสามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับประเทศอย่างเหมาะสม เป็นความรับผิดชอบของรัฐโดยตรง

หลักความแตกต่างในการเรียนรู้

ความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์แตกต่างกัน เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกันในการเรียนรู้ การคิด การกระทำ การจินตนาการ และการเลือกจะใช้ชีวิตของตนตามความพอใจ ระบบการศึกษาต้องสามารถทำให้พลเมืองแต่ละคนรู้ความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนอย่างถูกต้อง ตรง จริง และน่าเชื่อถือ ระบบการศึกษาที่เอื้อให้แต่ละคนสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาชีพเพียงหนึ่งเดียว เมื่อเรียนจบแล้วทำงานได้เฉพาะเพียงสาขาวิชาชีพที่เรียนมาได้เท่านั้นนั้นต้องได้รับการปรับปรุงสอคล้องกับความสามารถ ความต้องการ ความสนใจของแต่ละคน และสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีกลไกในการควบคุมการเข้าสู่อาชีพแต่ละอาชีพได้อย่างเหมาะสม และไม่ละเลยกับพลเมืองที่มีความบกพร่องทางสมองในทางการเรียนรู้ รวมทั้งบกพร่องทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ยังสามารถเรียนรู้ได้บ้าง

รัฐต้องมีระบบการศึกษาสำหรับ พลเมืองเหล่านั้น การทำให้พลเมืองไม่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำที่ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจากภาครัฐ เป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งที่รัฐต้องคำนึงถึง ระบบการศึกษานอกจากจะส่งเสริมให้แต่ละบุคคลสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพของแต่ละคนแล้ว เนื้อหาสาระที่เรียนต้องมีอย่างเพียงพอที่สามารถทำให้การเรียนรู้ไปไกลถึงสุดขอบพรมแดนของความรู้นั้น

รัฐต้องสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้พลเมืองแต่ละคนได้ใช้ศักยภาพในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ และไม่จำกัดว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบทางการศึกษาโดยตรง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว ผู้มีความพิเศษ หรือบกพร่องด้านความสามารถในการเรียนรู้ หรือในการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนเฉพาะวัย เฉพาะเรื่อง เฉพาะด้านหรือเฉพาะทาง หน่วยงานต่างๆ สามารถร่วมมือกันจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของบุคคล ของสังคม และประเทศชาติได้เช่นกัน

หลักปรัชญาการศึกษา

การจัดการศึกษาที่ดีที่สุด ประเสริฐสุดสำหรับพลเมืองสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอ เป้าหมายทางการศึกษา และกระบวนการในการจัดการศึกษา ต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก การตรวจสอบมาตรฐานและติดตามผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาต้องมีความทันสมัย ทั้งระบบการสอนและการสอบ มีการรับรองมาตรฐานคุณภาพของสถานศึกษาแต่ละแห่ง และตัวผู้เรียนแต่ละคนต้องทราบถึงความสามารถของตนอย่างเป็นรูปธรรม การพิจารณาว่าสิ่งใดหรือเนื้อหาสาระใดควรนำมาใช้เป็นเนื้อหาใน หลักสูตร หรือวิธีการใดๆ ที่จะนำมาใช้ใน การสอน ถือเป็นความสำคัญของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารการศึกษา

การจะรับเอาแนวคิด เนื้อหาสาระหรือปรัชญาการศึกษาอะไรมาใช้เป็นแนวทางในการเรียนและการสอน ต้องมีการดูแลอย่างเข้มงวด มิให้สั่งสอนนอกกรอบจากการเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ การนำเอาเนื้อหาสาระและแนวคิดที่ขัดหรือแย้งกับระบอบการปกครองของประเทศ และวิธีการสอนที่ไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ ต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด การจัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุดในเรื่องความมั่นคง ความสงบสุขของประเทศ ไม่สร้างความแตกแยก หรือความคิดแบ่งแยกให้กับคนในชาติ

สำหรับปรัชญาการศึกษาในด้านการสอนและการเรียนรู้ที่จะพิจารณานำมาใช้ควรอยู่บนฐานของความเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ที่แท้จริง ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิต การมีและใช้เทคโนโลยี และสถานการณ์การเรียนรู้แบบต่างๆ ที่เปลี่ยนไป การนำแนวคิดและทฤษฎีการเรียนรู้ที่ได้จากการทดลองกับสัตว์ เหมาะสมกับการฝึกสัตว์มาใช้กับมนุษย์นั้นควรมีการทบทวนให้เหมาะสมมากขึ้นเป็นต้น

หลักความเป็นวิชาชีพชั้นสูง

ผู้ที่ทำหน้าทางการศึกษาได้แก่ครู อาจารย์ รวมทั้งบุคลากรอื่นๆ ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ และฝ่ายสนับสนุนให้การจัดการเรียนการสอนสามารถดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและบรรลุเป้าหมาย ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมถึงระดับวิชาชีพชั้นสูง บุคลากรหลักที่ทำหน้าที่ทางการศึกษา เช่นครู อาจารย์ ผู้บริหารควรจบการศึกษาระดับปริญญาขึ้นไป หรือมีความเป็นมืออาชีพที่มั่นใจว่าสามารถทำภารกิจทางการศึกษาในแต่ละระดับ แต่ละประเภทได้อย่างมีคุณภาพ

รัฐต้องจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานคุณภาพบุคคลากรเหล่านั้นให้มีระดับความสามารถเพียงพอในการปฏิบัติงานตามภารกิจการศึกษาเพื่อให้สังคมมั่นใจว่าสามารถจัดการศึกษาให้กับพลเมืองของชาติ ทุกเพศ ทุกวัยได้อย่างมีคุณภาพ บุคคลากรต้องมีความรู้สึกว่าพวกเขาทำหน้าที่สำคัญของชาติและมีความผู้พันกับสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งมีความเลื่อมใสในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐรับผิดชอบนั้น ทั้งครู อาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ที่รับผิดชอบในภารกิจสำคัญควรต้องเป็นข้าราชการ เพื่อความมั่นคงในอาชีพ เชื่อมโยงและผูกพันกับสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ตนเองมีไปสู่เยาวชนที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคตต่อไปได้ ในทางตรงข้ามถ้าบุคลากรเหล่านี้ ไม่มี ความผู้พันกับสถาบันหลักของชาติ พวกเขาจะ ไม่สามารถ ถ่ายทอดสิ่งที่ตนเอง ไม่มี ไปสู่เยาวชนได้เช่นกัน

หลักการใช้อำนาจบังคับและลงโทษ

การดำเนินภารกิจทางการศึกษาต้องมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่ผู้ปฏิบัติในทุกขั้นตอน เนื่องจากภารกิจการศึกษาเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ผู้จะใช้อำนาจรัฐต้องได้รับอำนาจจากรัฐ เมื่อภาคเอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้รับอนุญาตให้ใช้อำนาจ ผู้ที่ได้รับอำนาจและใช้อำนาจต้องมีจิตสำนึกร่วมกันในความเป็นผู้มีคุณธรรม และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ต้องมีการกำกับดูแลการใช้อำนาจอย่างเคร่งครัด และมีมาตรการลงโทษบุคคลากรหรือหน่วยงานผู้ใช้อำนาจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเสมอภาคและเหมาะสม ทั้งในส่วนของการปฏิบัติและในการควบคุม กำกับทั้งวิธีการบริหารจัดการ มาตรฐานคุณภาพการศึกษา และติดตามการปฏิบัติตามภารกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง การซื้อขายคุณวุฒิ การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ และตำแหน่งบริหาร รวมทั้งผลงานวิชาการต่างๆ ต้องมีการตรวจสอบติดตาม บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มิยอมให้มีการจ้าง วาน ใช้ หรือมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีกลไก รวมทั้งกฎหมายเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้เกิดการฉ้อฉล หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้

สรุป

หลักการสำคัญเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา มี 5 ประการได้แก่ หลักความรับผิดชอบของรัฐ หลักความแตกต่างในการเรียนรู้ หลักปรัชญาการศึกษา หลักความเป็นวิชาชีพชั้นสูง และหลักการใช้อำนาจบังคับและการลงโทษ ถือเป็นหลักความมั่นคงของชาติ และการสร้างภูมิปัญญาของพลเมือง ให้สามารถพัฒนาประเทศและแข่งขันกับนานาประเทศในสังคมโลกได้ ในการบัญญัติกฎหมายหลักระดับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่มีกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยาก และมีหลายขั้นตอนนั้น เพียงแต่วางหลักการสำคัญๆ ที่ เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ก็เพียงพอแล้ว สำหรับรายละเอียดของเป้าหมาย การปฏิบัติงาน การบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมาย การจำแนกแยกระดับ ประเภทของการจัดการเรียนการสอน การควบคุมคุณภาพ หลักสูตรและการสอน ความมั่นคงและความก้าวหน้าบุคลากร การสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งการกำกับติดตาม และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ควรเป็นกฎหมายระดับรองที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา มีความทันสมัย และรวดเร็วตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก

เมื่อพิจารณาถึงความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจและสังคม ล้วนมาจากรากฐานของการศึกษาที่มีคุณภาพ พลเมืองของประเทศมีคุณภาพ มีจิตสำนึกที่ดีงามร่วมกัน สามารถใช้ศักยภาพของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ ระบบสังคมเปิดโอกาสให้มีการเลื่อนระดับชั้นของคนในสังคมผ่านกระบวนการของระบบการศึกษา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความสงบสุข พลเมืองในชาติมีความสุข ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ มีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม รักษาสิ่งแวดล้อม และพลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ