กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
อารยธรรมของชนเผ่ามายา (Maya) ในทวีปอเมริกาก่อนการค้นพบทวีปนี้โดยโคลัมบัส (อาจมีบุคคลอื่นอีกที่ได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นผู้คนพบทวีปอเมริกานอกจากท่านนี้) ที่ทวีปอเมริกา มีปรากฏหลักฐานที่หลงเหลือไว้ในรูปของเทวสถานและสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงอารยธรรมของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นแผ่นดินแถบนี้มาเป็นเวลาช้านาน จากการศึกษาและคาดเดาอย่างมีเหตุผลถึงสาเหตุของการล่มสลายของอารยธรรมของชนเผ่ามายา และเช่นเดียวกับอารยธรรมของชนชาติอื่น ๆ ที่ล่มสลายไปแล้วคาดว่า เกิดจากการขาดแคลนผลผลิตเพื่อการเลี้ยงดูผู้คนในสังคม ซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ ส่งผลให้เกิดสภาวะขาดแคลนหรือไร้สมดุลของการผลิตและการบริโภค และปัจจัยหนึ่งได้กล่าวถึงไว้ในการคาดเดา คือ การที่ผู้คนในสังคมที่เริ่มมีการพัฒนานิยมเรียนหนังสือเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานหนักและเปลี่ยนฐานะเป็นชนชั้นปัญญาชนที่ไม่ใช้กำลังความรู้ความสามารถไปเพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตปัจจัยในการเลี้ยงดูสังคมในทางตรง พวกนี้ได้แก่ นักบวช นักปรัชญา ที่ทำการศึกษาเรื่องของดาราศาสตร์ ไวยากรณ์ ตรรกวิทยา การพูด เลข เรขาคณิต ดนตรี ซึ่งเป็นวิชาประเภท Liberal Arts โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับชีวิต กลุ่มคนพวกนี้บริโภคผลผลิตจากผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นชนชั้นของผู้ทำงานการผลิต
ในสังคมหนึ่งความจำเป็นของการมีประชากรที่เป็นมันสมองของสังคมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหา กำหนดทิศทาง และพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ให้สังคมเกิดความผาสุข แต่ถ้ากลุ่มคนพวกนี้มีจำนวนมากขึ้นเกินกว่าที่สังคมจะเลี้ยงดูได้ จะเกิดปัญหาให้กับสังคม ชนกลุ่มนี้จะเรียกร้องเพื่อความเป็นอยู่และมีชีวิตที่ดีกว่าชนชั้นผู้ใช้แรงงานในการผลิต ความแตกแยกและสภาวะไร้สมดุลของการผลิตและบริโภคจะเกิดขึ้น เป็นสาเหตุของการล่มสลายในอารยธรรมโบราณที่มีการพัฒนาความเจริญถึงจุดที่ทุกคนไม่ต้องการทำงานหนักเพื่อผลิตปัจจัยการบริโภค ต้องการความสบายและเป็นผู้บริโภคอย่างเดียว เกิดสงคราม และการแย่งชิงปัจจัยการบริโภค ความรู้สึกไม่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับผู้บริโภคเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และได้ทำลายสังคมลงในที่สุด
การศึกษาเพื่อการผลิตและการบริโภค
การจัดการศึกษาให้ผู้จบการศึกษาออกไปทำงานในสังคมปัจจุบันที่ยึดถือการทำงานเป็นสำคัญ (Work-Oriented Society) เป็นการรักษาดุลยภาพของการผลิตและการบริโภค เป็นการจัดการศึกษาเพื่อจรรโลงสังคม เป็นการจัดการศึกษาเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน โดยแต่ละคนต่างปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในสังคมอย่างพึ่งพาอาศัยกันบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถของแต่ละคน เป็นความเท่าเทียมกันบนความแตกต่าง เป็นความเหมือนที่ต่างกันตามความสามารถและหน้าที่ แต่ทุกคนต้องทำงาน หลักการของการจัดการศึกษาเพื่อสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อให้จบการศึกษาออกไปรับใช้สังคมในด้านต่าง ๆ มีอยู่ในทุกลัทธิการเมืองไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม หลักการนี้ยังมีความเป็นสากล
อาชีวศึกษาเป็นการจัดการศึกษาให้ผู้จบการศึกษาออกไปทำงานประกอบอาชีพในสังคม สามารถอยู่ได้ในสังคมที่ยึดการทำงานเป็นสำคัญ การศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา มุ่งผลิตคนเข้าสู่โลกของงาน ไม่ได้มุ่งผลิตคนหรือสร้างคนให้เป็นผู้บริโภคแต่ฝ่ายเดียว และการให้การศึกษาเพื่อเป็นเครื่องประดับชีวิตและให้ใช้ชีวิตอยู่อย่างผู้บริโภคอย่างเดียวนั้นเริ่มลดลง และไม่ถือเป็นค่านิยมที่เป็นคุณค่าแก่การยึดถือของสังคมอีกต่อไป
การศึกษาเพื่ออาชีพ
ในอดีตมีนักการศึกษาพยายามจะแยกอาชีวศึกษากับสามัญศึกษา ในขณะเดียวกันก็พยายามจะแยกอาชีวศึกษากับอุดมศึกษา เหตุผลที่นำมาใช้กล่าวอ้างมีความเหมาะสมทั้งทางทฤษฎีและตรรกวิทยาอยู่มาก สหรัฐอเมริกาได้บทเรียนที่เจ็บปวดจากการแบ่งแยกการจัดการศึกษามาแล้ว และได้ประกาศชัดเจนว่า อาชีวศึกษาจะไม่แยกจากสามัญศึกษาอย่างเด็ดขาด ต้องเป็นการจัดการศึกษาที่ร่วมกันภายใต้แบบแผนของการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพหรืออาชีพศึกษา (Career Education) เพราะถ้ามีการแยกกันเป็นสองฝ่ายก็ต้องมีการปะทะหรือกระทบกัน บทเรียนจากนโยบาย Equal but Separate หรือ Segregation ที่ใช้กับคนต่างเชื้อชาติได้ถูกยกเลิกไปแล้วแต่ยังคงปรากฏผลพวงของความแบ่งแยกอยู่ในบางรัฐของอเมริกาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับประเทศไทยอาชีวศึกษาได้จัดไว้ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในระดับประถมศึกษาตอนต้นไม่แยกจากกัน ความรู้สึกในการแบ่งแยกจึงไม่เกิดขึ้นในระดับนี้ แต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายความจำเป็นของการแยกสาขาวิชาเพื่อเรียนวิชาชีพและการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาบุคลากรของประเทศในทุกด้านและสนองกับความต้องการที่หลากหลายของบุคคลและของสังคม และการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพก็สามารถเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือได้รับปริญญาได้เท่าเทียมกัน ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยที่ให้โอกาสเท่าเทียมกันในการศึกษาต่อระดับสูงขึ้นจึงเป็นระบบที่ลดความแตกแยกและความแตกต่างระหว่างอาชีวศึกษากับอุดมศึกษา
อาชีวศึกษาเพื่อจรรโลงสังคม
พัฒนาการของสังคมมนุษยชาติในอดีตทั้งที่ล่มสลายไปแล้วและสังคมปัจจุบันที่พัฒนาหลังยุคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มว่าคนในสังคมจะยึดถือความสบาย พอใจที่จะทำงานน้อยได้ผลตอบแทนสูง ใช้ทรัพยากรมาก นิยมการบริโภคทั้ง “ทางวัตถุ” และ “ประสบการณ์” หมายถึงการแสวงหาความพอใจจะ “มีอะไร” เป็นการแสวงหาวัตถุ และ “เคยลองอะไร” เป็นการไขว่คว้าหาประสบการณ์ มีมากขึ้น ขณะที่ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อผลผลิตมีน้อย มีการเก่งกำไรจากการลงทุนระยะสั้นโดยไม่มีผลผลิตอะไรที่นำมาใช้สนองความต้องการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ได้ อาจเป็นเพราะมีความรู้สึกว่าสังคมมีความมั่งคั่งสมบูรณ์ เนื่องจากคนรุ่นนี้ยังไม่เคยพบกับภาวะสงครามและความขาดแคลน ผิดกับบรรพชนรุ่นก่อนที่มุ่งมั่นในการทำงานเพื่อผลผลิตที่มากและดีเลิศแก่การทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีชึ้น ถ้าแนวโน้มของทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในสภาวะพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความต้องการกำลังคนเพื่อการผลิตไม่นิยมที่จะทำงานผลิตแต่มีแนวความคิดร่วมสมัยกับชนรุ่นใหม่ในประเทศที่มีการพัฒนาทางสังคมหลังยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว ปัญหาการขาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมและคนส่วนมากจะไม่สนใจทำงานด้านการผลิตอาจจะพอใจด้านการบริโภคและการแสวงหาวัตถุและประสบการณ์อันเป็นบ่อเกิดของการสร้างปัญหาสังคม เช่น การนิยมใช้ของแพงตามแฟชั่น นำไปสู่ปัญหาการทุจริต ฉ้อโกง หลอกลวง ตลอดจนการขายบริการทางเพศ หรือเป็นพวกมิจฉาชีพเพื่อให้ได้เงินจำนวนมากและเร็วสำหรับการใช้จ่ายซื้อวัตถุที่ต้องการ หาประสบการณ์แปลกใหม่ และการทดลองเสพยาเสพติด ไปสู่ปัญหาการค้ายาเสพติดและของผิดกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น
ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจ และค่านิยมในสังคมให้เห็นความสำคัญของการทำงานด้านการผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น และภารกิจส่วนนี้อาชีวศึกษานอกจากจะทำหน้าที่จัดการศึกษาวิชาชีพเพื่อให้ผู้จบการศึกษาทำงานด้านการผลิตแล้วการส่งเสริมให้ตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานเพื่อการผลิตเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเป็นการแข่งขันที่กำลังเผชิญอยู่ในสังคมโลกหลังจากที่มีการแข่งขันทางด้านแสนยานุภาพทางทหาร เทคโนโลยี เศรษฐกิจ อย่างดุเดือดมาแล้วและยังคงมีอยู่ ถึงแม้จะลดกำลังของการแข่งขันลงบ้างก็ตาม แต่การแข่งขันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผลดีกับมวลมนุษยชาติจะเกิดขึ้น สังคมจะอยู่อย่างผาสุข ดีกว่าการแข่งขันทางแสนยานุภาพทางทหาร เทคโนโลยี และเศรษฐกิจที่เคยเป็นในอดีต การสร้างคนที่มีความสามารถ มีคุณภาพสูงในการผลิต ซึ่งอาชีวศึกษาต้องรับหน้าที่นี้ถือเป็นการจรรโลงสังคมให้เกิดสมดุลระหว่างการบริโภคและการผลิตขึ้น
สรุป
อาชีวศึกษาเป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ และความสามารถในการผลิตเพื่ออุปโภคและบริโภคของมวลมนุษยชาติ สภาวะไร้สมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคทำให้สังคมล่มสลายหรือเกิดความไม่สงบของสังคมขึ้น การเชื่อมต่อช่องว่างให้เกิดสมดุลของการผลิตและการบริโภคเป็นภารกิจของอาชีวศึกษาที่มีส่วนช่วยจรรโลงสังคมให้มีความผาสุขหรืออยู่ดีกินดีตลอดไป