ถ้าให้พูดถึงภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ฝีมือคนไทยแบบ 100% ดูเหมือนจะมีอยู่แค่ไม่กี่เรื่องในประเทศไทย เพราะด้วยข้อจำกัดและอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ไม่มีใครกล้าทำภาพยนตร์แอนิเมชั่น
“ไทยรัฐออนไลน์” มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้สร้างแอนิเมชั่นไทยสองมิติ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ ผู้ควบคุมการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น Ananta (อนันตา) ซึ่งเป็นทีมงานคนไทยผู้สร้างภาพยนตร์ เรื่อง “พระพุทธเจ้า” ถึงการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทย
แอนิเมชั่นไทย สู้ต่างชาติได้จริงหรือ…?
ถามแบบนี้ไม่ได้ดูถูกฝีมือคนไทย แต่เราสงสัยจริงๆ ว่าฝีมือคนไทยทัดเทียมต่างชาติหรือยัง? ดร.กฤษมันต์ จึงเล่าผ่านไทยรัฐออนไลน์ ว่า เราทำการ์ตูนแอนิเมชั่นแบบ 2D การทำการ์ตูนแบบนี้ ใช้ความสามารถในด้านการวาดของคนเป็นสำคัญ แตกต่างจาก 3D ซึ่งต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งสำคัญในการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่น เป็นแรงจูงใจให้คนไทยรู้ว่าการทำแอนิเมชั่นแบบ 2D นี้ คนไทยทำได้ และสามารถแข่งกับต่างชาติได้ ซึ่งถ้าเป็น 3D การแข่งขันจะยากมาก เพราะพัฒนาการทางด้านการพัฒนา Software ของเรายังไม่ก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศ
ฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก!
ถามว่าอะไรคือ ความยากของการทำแอนิเมชั่น ดร.กฤษมันต์ บอกว่า การวาดภาพ และการเล่าเรื่อง การสร้างแอนิเมชั่น ใช้ความสามารถดังกล่าว ซึ่งคนไทยมีต้นทุนของความสามารถในด้านนี้ไม่แพ้ชาติใดๆ เราจึงต้องเริ่มคิดจากต้นทุนพิเศษของเราตรงนี้ก่อน นอกจากนั้น การทำแอนิเมชั่น เป็นการสร้างจินตนาการให้เป็นจริงด้วยมือเราเอง หมายความว่า เราต้องการให้ตัวละครของเรื่องมีหน้าตา ท่าทางอย่างไร เราสร้างได้ตามต้องการ
จากเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น การสร้างเรื่องราวที่เป็นจินตนาการ ย้อนอดีตนั้น เมื่อเราทำวิจัยด้านภูมิสถาปัตย์ เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ บ้านเรือน สังคม ชุมชน หรือความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้น เราไม่อาจหาภาพจริงได้ เราต้องสร้างขึ้น นิมิตขึ้นมาเองด้วยการวาดขึ้นมา การ์ตูนแอนิเมชั่น จึงเป็นคำตอบที่ดี
แอนิเมชั่นสร้างนาน กำลังคนไม่พอ!
ดร.กฤษมันต์ ยังบอกอีกว่า ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น เรื่อง ‘อนันตา’ ลงทุนไปกว่า ร้อยล้านบาท ใช้เวลาสร้างประมาณ 4-5 ปี เริ่มดำเนินการหลังจากภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง พระพุทธเจ้า ฉายเมื่อประมาณ 2550 หลังจากนั้นวางแผนเริ่มประมาณต้นปี 2552 และทำเรื่อยมา ที่ใช้เวลานาน เป็นเพราะกำลังคนที่มีความสามารถด้านนี้มีน้อย มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เลย หลักสูตรและการสอนสาขาวิชา มัลติมีเดีย และแอนิเมชั่น ในประเทศไทย ยังไม่สามารถผลิตผู้จบการศึกษาที่สามารถทำงานด้านนี้ได้ ไม่มีสักแห่งเดียว เพราะองค์ความรู้นี้ ไม่มีผู้สอนในมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทยสามารถสอนได้ และบริษัทผู้ผลิตแอนิเมชั่น 2D ในประเทศไทย ก็มีน้อยมาก จึงทำให้เราใช้เวลาในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ค่อนข้างนาน
เสน่ห์อนันตา!
“เสน่ห์ของอนันตา คือ เนื้อหาสาระ และความสวยสดงดงามของภาพและฉากที่สร้างขึ้น ทีมผู้สร้างคือ ทีมงานที่สร้าง “พระพุทธเจ้า” ซึ่งผมเป็นผู้กำกับเองเลย ส่วนเรื่องนี้ ผมเป็นผู้ควบคุมการผลิต เนื่องจากงานจริงๆ ของแอนิเมชั่นคือ งานผลิตสื่อนั่นเอง ไม่ใช่เหมือนผู้กำกับภาพยนตร์ หรือละคร ประสบการณ์จากทำภาพยนตร์ เรื่อง พระพุทธเจ้า ทำให้ อนันตา มีความสวยงาม ประณีตมากขึ้น หรือเก่งขึ้น เสน่ห์ในส่วนนี้คือ สีสวยงาม ภาพอ่อนช้อย ส่วนเสน่ห์ในเนื้อหาสาระ คือ ส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนมีความอดทน ต่อสู้กับความผิดหวัง และกตัญญูต่อพ่อแม่ และชาติบ้านเมือง จากผู้ที่คิดว่าตนเองไม่เก่ง ก็สามารถพัฒนาตนเป็นผู้เก่งกล้าได้ สอดคล้องกับค่านิยม 9 ใน 12 ประการของ คสช. ที่กำลังเผยแพร่ให้เยาวชนได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ” ดร.กฤษมันต์ กล่าว
6 จุดเด่นของภาพยนตร์แอนิเมชั่น “อนันตา”
1.”อนันตา” มีความหมายถึงการคงอยู่ชั่วนิรันดร์ เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม ที่จะคงอยู่ตลอดไป จึงนำมาเป็นชื่อตัวเอกของเรื่อง
2.เด็กและเยาวชนในปัจจุบันบางส่วนขาดความยับยั้งชั่งใจ เมื่อมีความรัก ผิดหวังในรัก ไม่ได้อะไรตามที่หวังและต้องการ ก็รู้สึกผิดหวังและเสียใจจนขาดสติ บางรายอาจถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย โดยลืมนึกถึงครอบครัว เราจึงเกิดความคิดที่จะสร้างการ์ตูน เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กและเยาวชนในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การยึดมั่นในการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผู้ที่ทำความดีควรได้รับการยกย่อง ผู้ที่ทำชั่วควรถูกประณามและลงโทษ
3.เราคาดหวังให้ผู้ที่ได้รับชมภาพยนตร์ เป็นส่วนผลักดันให้เด็กและเยาวชนเกิดแรงบันดาลใจในแนวคิดที่ว่า ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้เช่นเดียวกับเจ้าชายอนันตา เริ่มจากการเป็นเจ้าชายที่ไม่เอาไหน เล่นสนุกไปวันๆ กลายเป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยความมานะพยายาม ใฝ่หาความรู้ มุ่งมั่นต่อการฝึกฝน มีความเข้มแข็ง อดทนและเสียสละ กตัญญูต่อบิดา-มารดา สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการปลูกฝังฐานความคิดให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านสื่อภาพยนตร์การ์ตูน สามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดแนวความคิดได้เป็นอย่างดี และเมื่อเด็กได้ซึมซับพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีก็จะส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม
4.เสื้อผ้าและเครื่องประดับของตัวละคร ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยุคหลังพุทธกาล แต่ปรับให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ส่วนการตั้งชื่อตัวละครนั้นก็อิงมาจากชื่อของชาวอินโด-อารยัน
5.ฉากที่เจ้าชายอนันตาอกหักและคิดฆ่าตัวตายเป็นฉากที่ยากที่สุด เพราะบุคลิกของเจ้าชายเป็นคนตลกขบขัน สนุกสนานเฮฮา จึงจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้เจ้าชายได้สื่ออารมณ์เศร้าผ่านอารมณ์ทางสีหน้าและท่าทาง
6.ฉากที่ประทับใจมากที่สุด คือ ฉากที่เจ้าชายปกป้องพระราชมารดา ทั้งๆ ที่ไม่เอาไหนในเรื่องศิลปะป้องกันตัว แต่ด้วยความพยายามและกล้าที่จะเผชิญกับความกลัว เพื่อให้พระราชมารดาพ้นจากภัยอันตราย เจ้าชายสามารถพาพระราชมารดาหลบหนีไปในที่ที่ปลอดภัยได้สำเร็จ
ดร.กฤษมันต์ ทิ้งท้ายไว้อีกว่า เราคาดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้ จะสามารถทำให้เยาวชนได้ซึมซับเอาค่านิยมของการพัฒนาตนเอง ยึดมั่นในคุณงามความดี อดทนสู้กับปัญหาต่างๆ ด้วยกำลังความสามารถในทางที่ดีงาม และเชื่อว่า ความดีย่อมชนะความไม่ดีเสมอ
ไทยรัฐออนไลน์ : https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/465086