การจัดการศึกษาของประเทศไทยดำเนินการในหลายหน่วยงาน มีทั้งที่มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน และคล้ายกัน อีกทั้งยังอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการที่หลากหลาย การทำความเข้าใจระบบการศึกษาของประเทศไทย จึงต้องเข้าใจบริบท ความเป็นมา และเหตุผลในการแยกกันจัดการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย
ดังนั้น การกำหนดแนวนโยบายการศึกษาของชาติ จึงต้องพิจารณาทั้งในระดับมหภาค และระดับจุลภาค ในระดับมหภาค เป็นการมองถาพรวมทั้งประเทศในเชิงระบบ ส่วนระดับจุลภาคเป็นการมองภาพของการดำเนินงานในหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา บางกรณีอาจลงไปถึงกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน แนวนโยบายจึงมีความแตกต่างกัน โดยต้องวางหลักการในระดับมหภาค และระดับจุลภาคดังนี้
ระดับมหภาค มีฐานความคิดแนวนโยบายดังนี้
- รัฐเท่านั้นที่มีอำนาจและหน้าที่จัดการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ ทุกวิธีการให้กับพลเมืองของประเทศไทย รัฐอาจอนุญาตให้บุคคล หรือนิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่นใด จัดการศึกษาได้ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ใด หรือหน่วยงานอื่นใดจะจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐไม่ได้ การขออนุญาตจัดการศึกษาในแต่ละประเภท ระดับ และวิธีการให้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
- รัฐมีหน้าที่อุดหนุนด้วยเงินงบประมาณ ด้วยวิธีการ หรือด้วยมาตรการต่าง ๆ ให้กับผู้จัดการศึกษา ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่นใด อย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยถือว่า เป็นการรับอำนาจและหน้าที่จัดการศึกษาของรัฐไปดำเนินการแทนรัฐ จึงต้องมีความรับผิดชอบและรับประโยชน์ที่รัฐอุดหนุนตามที่กฎหมายกำหนด
- รัฐต้องมีมาตรการ วิธีการ และหน่วยงานในการควมคุมมาตรฐานคุณภาพในการจัดการศึกษา ในทุกระดับ ทุกประเภท และทุกวิธีการ ที่มีการดำเนินการทั้งที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในราชอาณาจักร และนอกราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ระดับจุลภาค มีฐานความคิดและแนวนโยบายดังนี้
- หน่วยงานของรัฐ บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่นใด ที่จัดการศึกษาต้องได้รับอนุญาตจากรัฐ ในการจัดการเรียนการสอน ทั้งหลักสูตร วิธีการสอน ตลอดจนการบริหารจัดการ ในทุกกรณี และให้รายงานผลการจัดการศึกษาให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบทุกสิ้นปีงบประมาณ ตามที่กฎหมายกำหนด
- การปิด เปิด ขยาย ยุบรวม ควบรวม หรือเปลี่ยนแปลงใด เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานที่จัดการศึกษาต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนด
- บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่จัดการศึกษาทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่นใด ต้องได้รับความคุ้มครองความเท่าเทียมกันในเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ รายใด้ สวัสดิการ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายกำหนดในแต่ละประเภท และระดับของการศึกษา
แนวนโยบายในแต่ละประเภทการศึกษา การแบ่งประเภทของการจัดการศึกษามีการแบ่งได้หลายลักษณะ และมีส่วนเกี่ยวของกับระดับของการศึกษา จุดประสงค์ของการจัดการศึกษา และอายุของผู้เรียน เนื่องจากการศึกษาบางประเภทจัดขึ้นในบางระดับของการศึกษา จุดประสงค์ของการศึกษา และอายุของผู้เรียนเป็นต้น
การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการจัดการศึกษาโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พลเมืองของประเทศที่อยู่ในวัยเรียน โดยปรกติมีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พลเมืองของประเทศมีความรู้พื้นฐานสำหรับการเป็นพลเมืองที่ดี มีชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ เป็นการเตรียมให้พลเมืองเข้าสู่โลกของงานและอาชีพ หรือศึกษาในระดับสูงขึ้นต่อไป ถือเป็นรากฐานของการสร้างพลเมืองให้มีความรู้ ทักษะ เจตคติที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมและความต้องการคุณลักษณะพลเมืองของประเทศ ในประเทศที่การเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมไม่นิยมใช้วิธีการปลูกฝังค่านิยมของประเทศด้วยวิธีการเรียนการสอนแบบล้างสมอง หรือสร้างคุณลักษณะพิเศษให้กับพลเมืองที่ยังเป็นเยาวชนเหมือนประเทศที่มีระบบการปกครองแบบอื่น แนวนโยบายที่สำคัญคือ หลักสูตรและการสอนต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐ และรัฐต้องจัดให้มีหลักสูตรและการสอนที่ทันสมัยและมีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาหลักสูตรและหน่วยงานที่รับผิดสอบในการส่งเสริมและพัฒนาการสอนด้วยเทคโนโลยีร่วมสมัยสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจะจัดการศึกษาด้วยหลักสูตรและการสอนเป็นอย่างอื่นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐเท่านั้น และรัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างมีมาตรฐาน และมีหน่วยงานที่วัดผลการเรียนการสอนที่สามารถตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนในระดับชาติ
การศึกษาเพื่ออาชีพ เป็นการศึกษาที่มีจุดประสงค์เพื่อทำให้พลเมืองมีความสามารถในการประกอบอาชีพ ทั้งการมีอาชีพในลักษณะของการได้รับการจ้างงาน หรือการประกอบอาชีพอิสระของตนเอง การจัดการศึกษาประเภทนี้เป็นประเภท “การอาชีวศึกษา” สำหรับพลเมืองที่อยู่ในวัยเรียนและเตรียมตัวเข้าสู่โลกของงาน ควรจัดการศึกษาประเภทนี้หลังจากผู้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับหรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเพียงพอสำหรับการเรียนวิชาชีพ รวมทั้ง “การฝึกอาชีพ” สำหรับพลเมืองที่อยู่ในวัยที่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือผู้ต้องการมีทักษะวิชาชีพตามที่ต้องการในช่วงอายุต่าง ๆ แนวนโยบายสำคัญคือ ผู้เรียนจะต้องได้รับการฝึกอาชีพก่อนที่จะออกจากระบบการศึกษาเมื่อมีอายุน้อยกว่า 18 ปี ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด การศึกษาประเภทนี้สามารถรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อเพิ่มคุณวุฒิตามระดับ (มาตรา 6 พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566)
การศึกษาสำหรับวิชาชีพชั้นสูง เป็นการศึกษาประเภทอุดมศึกษา จุดประสงค์เพื่อสร้างกำลังคนสำหรับวิชาชีพเฉพาะระดับสูง เพื่อพัฒนาประเทศและมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมทั้งการศึกษาเฉพาะทางตามความค้องการของประเทศหรือของหน่วยงานของรัฐ การศึกษาประเภทนี้เป็นระดับการศึกษาหลังจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ การอาชีวศึกษา เป็นการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป แนวนโยบายที่สำคัญคือ เป็นการจัดการศึกษาที่มีเสรีภาพทางวิชาการเป็นฐานสำคัญของการเรียนการสอน และมีความอิสระในการจัดการศึกษามากกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ การอาชีวศึกษา การควมคุมมาตรฐานคุณภาพ และการตรวจสอบคุณภาพของการจัดการศึกษา รัฐต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมกับสภาพการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ในการควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพของการจัดการศึกษารัฐต้องทำอย่างเคร่งครัด เหมาะสม และสม่ำเสมอ