ให้คำปรึกษาปัญหากฎหมาย

การทำนิติกรรม สัญญา การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ
คดีปกครอง ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษี เศรษฐกิจ คอมพิวเตอร์

ไม่รับปรึกษา
คดียาเสพติด คดีความมั่นคง และคดีอาญา
โดยทีมงานกฎหมายและสำนักงานทนายความ
ติดต่อได้ที่ kwmongkut@outlook.com

ศาสตราจารย์ ดร. กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

ไฟล์เอกสาร PDF “การเรียนการสอนเพื่อ Subliminal Learning”

บทนำ

การกล่าวถึงการเรียนการสอน และการเรียนรู้ส่วนมากจะเป็นการกล่าวถึงในลักษณะที่เป็นรูปธรรม สามารถมองเห็นกิจกรรมการเรียนการสอน คาดหมายผลลัพธ์ของการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ได้ สามารถสังเกตได้ มองเห็นได้ จับต้องได้ วัดได้จากพฤติกรรมหรือการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ สภาพการเรียนรู้ (Learning) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือการเรียนเรียนรู้แบบที่ต้องมีการสั่งสอน (Didactics) หมายถึง ต้องมีการเรียนการสอนจึงจะเกิดการเรียนรู้ได้ ถ้าไม่มีการเรียนการสอนจะไม่สามารถเกิดการเรียนรู้ขึ้นได้เอง กับสภาพการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Heuristics)  หมายถึงการเรียนรู้โดยไม่ต้องมีการสั่งสอนโดยผู้สอน ครู อาจารย์ หรือเครื่องช่วยสอนต่าง ๆ เป็นการเกิดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเองกับผู้เรียน รวมทั้งการเรียนรู้ที่ไม่มีครู หรือสิ่งใด ๆ ที่จะสั่งสอนได้อีกด้วย ซึ่งมีรายละเอียดมากและมีตำราเรียนว่าด้วยการเรียนการสอนและการเรียนรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้จำนวนมาก ต่อไปนี้ก็จะเป็นการกล่าวถึงเรียนการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากที่ครู อาจารย์ทั้งหลาย หรือผู้ที่เรียนทางสายการศึกษา ครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ที่ได้เรียนมา การเรียนการสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบนี้ยังไม่พบว่าภาษาไทยใช้คำใด

แต่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Subliminal Learning หมายถึง การเรียนรู้ในขณะที่ไม่รู้สึกตัว หรือเป็นการเรียนรู้ของจิตใต้สำนึกซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ผู้เรียนไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้สึกตัว หรือผู้สอนไม่ได้มีแผนการว่าจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น หรือคาดหมายว่าจะเกิดขึ้น นอกจากนั้นผู้เรียนไม่ตั้งใจจะเรียนรู้ ไม่รู้สึกตัวว่าจะได้เรียนรู้อะไรบ้างในสิ่งที่ตัวเองได้รับมาจากประสบการณ์ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้จะต้องเริ่มจากการมีประสบการณ์โดยขณะรู้สำนึกเสียก่อน การเรียนรู้ระดับระดับจิตใต้จิตสำนึกจึงจะเริ่มทำงานเป็นระบบในขณะหลับ และฝัน ซึ่งเป็นกระบวนการของการรับประสบการณ์จากระบบการรับสัมผัสในขณะที่ตื่น และนำไปประมวลผลในขณะหลับ และฝัน

จิตสำนึกของบุคคลเป็นสภาพที่เกิดจากการรับรู้หลายอย่าง ประกอบด้วยสภาพหลักของจิตสำนึก 3 สภาพด้วยกัน ที่คุ้นเคยกันมากที่สุด ได้แก่สภาพ ตื่น หลับ และ ฝัน บวกกับสภาพที่ 4 ซึ่งเป็นสภาพความเงียบสงบภายในที่เรียกว่า “จิตสำนึกล่วงพ้น (Transcendental Consciousness)” ในสภาพนี้จิตได้ก้าวข้ามขอบเขตการทำงานทั้งหมดของจิตและกระบวนการคิดตามที่เข้าใจกัน เป็นภาวะที่มีความสงบอย่างล้ำลึก ถ้าเทียบเคียงกับระดับสมาธิ 9 ระดับในพุทธศาสนา จิตสำนึกล่วงพ้น ควรจะเป็นระดับสมาธิที่อยู่สูงกว่าระดับ 4 หรือจตุตถฌาน (ฌานที่ 4) ขึ้นไป นอกจากจิตสำนึกล่วงพ้นของแต่ละบุคคล แล้ว ยังมี “จิตสำนึกร่วมกัน (Collective Consciousness)” ซึ่งบ่งบอกถึงจิตสำนึกของแต่ละบุคคลทั้งหมดที่มารวมกันเป็นกลุ่ม จิตสำนึกร่วมกันเป็นรากฐานของมนุษย์ชาติที่สืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และอาจจะสอดคล้องกันหรือไม่สอดคล้องก็ได้ในระระแรก แต่ต่อมาจะมีจิตสำนึกร่วมกัน สอดคล้องกัน หรือเหมือนกัน ซึ่งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามจิตสำนึกร่วมกันมีอิทธิพลทั้งในระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล ระดับเมือง ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือระดับโลกในทุกด้าน แม้แต่ด้านระบบการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ การเลือกใช้ชีวิตในการทำมาหากิน และการเลือกที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ หรือ การก่อสงครามสู้รบกันก็ได้


รากฐานของการเรียนการสอนเพื่อ Subliminal Learning

การเรียนการสอนที่นำไปสู่การเรียนรู้แบบ Subliminal Learning มีขั้นตอนที่เรียบง่าย เป็นธรรมชาติและไม่ต้องใช้ความพยายามมากเพราะผู้เรียนยังอยู่ในภาวะของการรับรู้จากระบบสัมผัสด้วยการได้รับประสบการณ์ เพียงแต่ผู้เรียนไม่รู้ว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไร การได้รับประสบการณ์จาก “การเลียนแบบ” และ “การท่องจำ” หรือการจดจำทั้ง เรื่องราว ท่าทาง รวมทั้งถ้อยคำต่าง ๆ จะใช้เป็น “รากฐาน” ของการจัดประสบการณ์ที่ผู้สอนสามารถทำได้อย่างไม่ซับซ้อน เนื่องจากเป็นวิธีการเรียนการเรียนรู้เริ่มแรกของมนุษย์ แม้ว่าต้นกำเนิดการเลียนแบบและการจดจำมาจากธรรมชาติในการต้องการมีชีวิตรอดของมนุษย์ และการเรียนวิชาชีพก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือวิถีชีวิต เหมือนอย่างเช่นวิธีการสอนแบบล้างสมอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ในยุคหนึ่งได้นำมาใช้สำหรับการเรียนการสอนให้กับเยาวชนของประเทศ


การเรียนรู้แบบ Subliminal Learning เป็นการเรียนรู้ที่มีผลอย่างมากต่อ จิต กาย ปัญญา อารมณ์ รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อโลกและชีวิตในสังคม เป็นการสร้างบุคลิกภาพใหม่ให้กับผู้เรียนค่อนข้างจะถาวร เนื่องจากเปลี่ยนแปลงได้ยากเพราะเป็นการเรียนรู้ของจิตใต้สำนึกที่ควบคุมได้ยาก กลไกของเทคนิคการเรียนการสอนนั้นง่าย ไม่ต้องใช้ความพยายามและมีประสบการณ์กับระดับความคิดที่ละเอียดจนถึงระดับ “จิตสำนึกล่วงพ้น” หรือ ก้าวพ้นไปจากกระบวนการคิดของบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการฝึกสมาธิ

โดยปกติประสบการณ์กับความคิดระดับพื้นฐานของจิตจะปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตามธรรมชาติอยู่แล้วจากการได้รับรู้จากระบบประสาทสัมผัส เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเนื่องจากต้องมีการผ่านระบบประสาทสัมผัสของมนุษย์ การกลับทิศทางความสนใจของจิตเข้าสู่ภายในเป็นการนำจิตจากประสบการณ์ ความคิดในระดับจิตรู้สำนึกที่ได้รับจากระบบประสาทสัมผัส ไปสู่ประสบการณ์ในคุณค่าความคิดที่ละเอียดกว่า ในระดับที่ลึกกว่าระดับพื้นฐานทั่วไป ในที่สุดจะถึงระดับที่จิตสำนึกล่วงพ้นหรือไปได้ไกลกว่าระดับจิตสำนึกล่วงพ้น จนกระทั่งระดับละเอียดที่สุดก็เป็นไปได้ การมีประสบการณ์กับ จิตสำนึกล่วงพ้น (Transcendental Consciousness) ต้องมีการฝึกภายใต้การดูแลจากผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการฝึกจิต หรือการทำสมาธิ ไม่ควรทดลองทำเองหรือฝึกด้วยตนเองตามลำพัง


การจัดประสบการณ์เพื่อ Subliminal Learning

รากฐานประการแรก ได้แก่ “การเลียนแบบ” การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เลียนแบบนั้น ความสำคัญอยู่ที่ “ต้นแบบ” เริ่มตั้งแต่ตัวครู อาจารย์ ผู้สอน หรือผู้จัดประสบการณ์ ต้องมีคุณลักษณะ หรือ (Characters) ที่เหมาะสมกับการเป็นต้นแบบให้ผู้เรียนได้เลียนแบบ เพราะคุณลักษณะนั้นสามารถมองเห็นและรับรู้ได้เป็นสิ่งแรก ความประทับใจจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้พบเห็นจะถูกบันทึกไว้ในระบบการจดจำที่ซับซ้อนของมนุษย์ การตัดสินคุณค่าของประสบการณ์ที่ได้รับจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ประสบการณ์เหล่านี้เมื่อรับจากสภาพที่ถูกต้องเหมาะสมกับจิตแล้ว จิตก็จะรับไว้อย่างอัตโนมัติเข้าสู่ภายใน และไปสู่ระดับที่ละเอียดขึ้น

ในขณะที่จิตมีประสบการณ์กับกระบวนการคิดที่ละเอียดขึ้นนี้ จิตจะมีประสบการณ์กับระดับความรู้ตัวที่ละเอียดมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้จิตที่รู้สำนึกตื่นตัวมากขึ้น และมากขึ้น และเมื่อจิตที่รู้สำนึกตัวตื่นตัวสูงสุดเมื่อได้รับประสบการณ์อย่างบริบูรณ์หรือเรียนรู้ได้แล้ว ความละเอียดขั้นต่อไปจะช่วยให้เกิดสภาวะของจิตล่วงพ้นขอบเขตของความคิด ความเข้าใจที่ได้รับ เข้าถึงจิตสำนึกล่วงพ้นภายในตัวเองโดยไม่รู้ตัว การเรียนรู้แบบ Subliminal Learning จะเกิดขึ้นและฝังตัวอยู่รอวัน เวลาที่จะถูกนำออกมาแสดงให้เป็นรูปธรรม ถึงเวลานั้นจึงจะทราบผลของการเรียนรู้แบบนี้

ในส่วนของผู้เรียน เทคนิคการฝึกจิตสำนึกล่วงพ้นได้นั้น เป็นขั้นตอนที่เรียบง่าย เป็นธรรมชาติเช่นกันและไม่ต้องใช้ความพยายามมากใช้เวลาปฏิบัติด้วยการทำสมาธิทุกเช้าและเย็น และก่อนเริ่มการเรียนหรือก่อนได้รับประสบการณ์ แม้ว่าต้นกำเนิดของเทคนิคมาจากพระเวทเก่าแก่ของอินเดีย แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือวิถีชีวิต ผลลัพธ์ของเทคนิคนี้บ่งชี้ว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อจิต กาย ปัญญา อารมณ์ และสังคม

รากฐานประการที่สอง คือ การท่องจำ หรือจดจำ การมีคำศัพท์ของภาษาที่ใช้สื่อสารจำนวนมากมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประสบการณ์รากฐานแบบนี้ ถ้าผู้เรียนและผู้สอนรู้คำศัพท์จำนวนมากที่สามารถแทนความหมายของประสบการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดมากจะทำให้เกิดสภาพของจิตสำนึกมีความบริบูรณ์ได้ดี และนำไปสู่ขั้นละเอียดของจิตในระดับสูงขึ้นได้ง่ายกว่าภาษาที่มีคำศัพท์น้อย เช่น ภาษาไทยมีคำศัพท์น้อย ต้องใช้คำศัพท์ในภาษาอื่นมาใช้ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี และสันสกฤต เป็นต้น

การท่องจำ และการจดจำ มีความแตกต่างกัน แต่ผลต่อการเกิดภาวะการเรียนรู้ระดับจิตใตสำนึกไม่แตกต่างกัน ทั้งการท่องจำและการจดจำ นำไปสู่การตัดสินคุณค่าประสบการณ์ที่ละเอียดกว่าในระดับที่ลึกกว่าระดับจิตรู้สำนึก สามารถเรียนรู้ด้วยกระบวนการทำงานของจิตในระดับที่ละเอียดมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์กับสมาธิขั้นสูงหรือจิตสำนึกล่วงพ้น การสอนให้ผู้เรียนท่องจำ หรือจดจำด้วยคำศัพท์ในภาษาที่สามารถสื่อความหมายหรืออธิบายความหมายของประสบการที่ละเอียดนั้นได้ ดังนั้นการท่องอาขยาน การท่องสูตรคูณ การท่องทฤษฎีบท และจดจำการถอดสมการต่าง ๆ ถ้าได้มีการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียนจะทำให้เกิดภาวะของ Subliminal Learning ได้เช่นเดียวกับการเลียนแบบ


การฝึกจิตเพื่อ Subliminal Learning

การฝึกจิตไม่ใช่ระบบความเชื่อที่ไร้เหตุผล ใช้ปลอบประโลมหรือล่อลวง สำหรับผู้มีปัญหาทางจิต ไม่ใช่รูปแบบการเพ่งจิต หรือการฝึกให้รู้จักคิดไตร่ตรอง แต่เป็นการช่วยให้จิตเข้าสู่สภาพที่ถูกรบกวนน้อยที่สุดได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างอื่นมาเสริม เช่น ยานอนหลับ ยาคลายเครียด เครื่องดื่มชูกำลัง หรือใช้ยาให้ช่วยขยันอ่านหนังสือได้อย่างยาวนานไม่ต้องพักผ่อน แม้แต่การออกกำลังกายให้เกิดความอ่อนเพลีย หรือเล่มเกมต่าง ๆ เพียงแต่มีประสบการณ์กับการทำสมาธิที่ถูกต้อง จะพบกับความเงียบและความสงบสุขไม่มีสิ่งใดรบกวนได้อย่างไร้ขีดจำกัด ในขณะเดียวกันก็ขจัดความเครียดที่ไม่ต้องการออกไปและปรับเปลี่ยนการทำงานภายในร่างกายทั้งทางด้านสรีรวิทยาและชีวเคมีไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์

ยิ่งไปกว่านั้นประสบการณ์ของจิตสำนึกล่วงพ้นไม่ใช่ทั้งการถูกสะกดจิต สภาพเหมือนตกอยู่ในภวังค์ หรือความรู้สึกว่างเปล่า แต่ผู้ปฏิบัติจะมีประสบการณ์กับความอิ่มเอมใจที่เพิ่มมากขึ้นและความเต็มเปี่ยมแห่งจิตสำนึกภายในตน เมื่อจิตสงบลงผ่านระดับความคิดที่ละเอียดขึ้นจนก้าวข้ามระดับละเอียดที่สุด เป็นประสบการณ์ที่ตระหนักรู้ตนเอง ปราศจากความแตกต่าง หรือมีการแบ่งแยกระหว่างจิตและกาย จิตสำนึกล่วงพ้น เป็นสนามของความเป็นไปได้ทั้งมวลที่ซึ่งศักยภาพในการสร้างสรรค์ทั้งหมดรวมอยู่ด้วยกัน มีความสัมพันธ์กันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะแสดงออกมาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมหรือเกิดการเรียนรู้ แบบ Subliminal Learning

สรุป

ถึงแม้กิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้แบบ Subliminal Learning มีความเหมือนกับการเรียนการสอนที่ดำเนินการอยู่แล้วในลักษณะต่าง ๆ เช่นการส่งเสริมให้นักเรียนสวดมนต์ ทำสมาธิ ในสถานศึกษาทุกระดับ แต่วิธีการที่ระบุถึงรากฐานของการจัดประสบการณ์อาจมีความแตกต่างกัน การเลียนแบบ และการท่องจำหรือจดจำ จะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนการสอนที่ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบนี้ได้ดี เป็นความชัดเจนในการเลือกวิธีการจัดการเรียนการสอนอย่างไม่ซับซ้อน การขยายความในกิจกรรมการจัดประสบการณ์ของการเลียนแบบ และการจดจำ หรือท่องจำ จึงเปิดโอกาสให้ผู้สอนสามารถออกแบบกิจกรรมและสร้างประสบการณ์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น


แหล่งสืบค้นเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม

กฤษมันต์  วัฒนาณรงค์ (2566).  แนวโน้มและประเด็นปัญหาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา.  ครั้งที่ 7, ศูนย์ผลิตตำราเรียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กรุงเทพฯ, 645 หน้า.

กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์. (2566). สมรรถนะวิชาชีพ, ครั้งที่ 4, ศูนย์ผลิตตำราเรียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กรุงเทพฯ, 168 หน้า.

กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ (2566). ปรัชญาการอาชีวศึกษา, ครั้งที่ 3, ศูนย์ผลิตตำราเรียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กรุงเทพฯ, 299 หน้า.

กฤษมันต์  วัฒนาณรงค์ (2562).  นวัตกรรมและเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา. ฉบับปรับปรุง 2562 ครั้งที่ 7, ศูนย์ผลิตตำราเรียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กรุงเทพฯ, 267 หน้า.

กฤษมันต์  วัฒณนาณงค์ (2555). เทคโนโลยีการศึกษาวิชาชีพ. ครั้งที่ 2, ศูนย์ผลิตตำราเรียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กรุงเทพฯ, 686 หน้า.

Spivack, Barry. and Saunders, Patricia. (2020). An Antidote to Violence: Evaluating the Evidence, Hunt Publishing, Hampshire SO24 9EE, UK.