ให้คำปรึกษาปัญหากฎหมาย

การทำนิติกรรม สัญญา การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ
คดีปกครอง ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษี เศรษฐกิจ คอมพิวเตอร์

ไม่รับปรึกษา
คดียาเสพติด คดีความมั่นคง และคดีอาญา
โดยทีมงานกฎหมายและสำนักงานทนายความ
ติดต่อได้ที่ kwmongkut@outlook.com

การปฎิรูปการศึกษารอบสอง

การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ดำเนินการไปแล้วในระยะกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา เน้นการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ มีการยุบรวม แบ่งแยกหน่วยงาน  ปรับเปลี่ยนสถานภาพของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของชาติ มีการเปลี่ยนแปลงทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับการศึกษาพื้นฐาน คือ ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ไปจนถึงอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ มหภาค (Macro Level) ส่วนในระดับจุลภาค (Micro Level) คือ ภายในห้องเรียนหรือโรงเรียนนั้นมีมาตรการในการดำเนินงานน้อยกว่ามาก เช่นมีการพยายามส่งเสริมการเรียนแบบผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการสนับสนุนการทำผลงานวิชาการและการเพิ่มวิทยะฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่นการทำวิจัยในชั้นเรียน วิจัยแผ่นเดียว และวิจัยสถาบัน มากขึ้น มีการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาทั้งในรูปการกู้ยืม การเรียนฟรี และการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ที่มุ่งหวังให้การศึกษาของประเทศมีคุณภาพ และกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง มีสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นมากเพื่อรองกับการให้โอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา

              อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาในรอบแรกยังไม่เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในห้องเรียนมากนัก แต่กลับเพิ่มภาระให้กับครูมากขึ้น ครูและผู้บริหารต้องทำงานเอกสารเพื่อประโยชน์และความก้าวหน้าในวิชาชีพของตนเอง การทำผลงานทางวิชาการของครู/อาจารย์ การมุ่งบริหารงานตามตัวชี้วัดของผู้บริหารที่ต้องคอยพะวงกับกระบวนการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา ที่มีมากมายหลายอย่าง ทำให้ครูมีเวลากับนักเรียนและให้เวลากับการเรียนการสอนน้อยลง และผู้บริหารเองไม่มีโอกาสได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือนำนวัตกรรมมาใช้ทางการศึกษา ทำให้เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไม่อาจพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เต็มที่ จึงมีการกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษารองสองขึ้น กระแสการปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้ในประเทศ Republic of Tajikistan ได้ขอรับการสนับสนุนด้านเทคนิคจากธนาคารพัฒนาเอเซีย (Asian Development Bank) หรือ ADB ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 และ UNESCO หรือ  United Nations Educational, Scientific, and Cultural Organization ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 โดยใช้คำว่า Towards a Convergence of Knowledge Acquisition and Skills Development หมายถึง มุ่งสู่การบรรจบกันของการเข้าถึงความรู้และการพัฒนาทักษะ ซึ่งให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับ จุลภาค มากกว่าการปฏิรูปโครงสร้างในระดับ มหภาค

สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษารอบสองมานานพอสมควรหลังจากพบว่า การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาในระบบของการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น การกวดวิชายังคงดำเนินอยู่และดูเหมือนจะกลายเป็นความจำเป็นมากขึ้น การแย่งเข้าโรงเรียนที่มีชื่อ กระบวนการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาซึ่งยังไม่สร้างความมั่นใจในเรื่องของความเป็นธรรมในการนำเกรดระดับมัธยมมาใช้ในการคำนวณเพื่อเข้าศึกษาต่อ มาตรฐานการศึกษาและการให้เกรดของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน เป็นต้น และยังมีปัญหาอื่น ๆ ทางด้านโครงสร้างการบริหารและตำแหน่งต่างๆ ในระบบขององค์กรที่จัดการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งเป็นปัญหาในระดับ มหภาคอีกด้วย

              ประชาชนที่มีบุตรหลานเข้าเรียนในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปได้รับผลของการปฏิรูปการศึกษาแตกต่างกัน บางอย่างที่รัฐบาลจัดให้สำหรับการศึกษาพื้นฐานไม่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองบางกลุ่ม แต่มีประโยชน์สำหรับบางกลุ่มเช่น การแจกเครื่องแบบนักเรียนและตำราเรียนให้กับนักเรียน การเรียนฟรี และ การกู้ยืมเงิน เป็นต้น รัฐยังขาดกลไกและวิธีการทำงานที่ดีที่สุด (Best Practice) ที่จะบริหารจัดการกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรก และการปฏิรูปยังไม่สามารถทำได้ทุกภาคส่วนทั้งระบบของการจัดการศึกษาของประเทศ ดังนั้น ในการปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้ จึงมีความจำเป็นต้องมีการ สรุปบทเรียน (Lesson Learned) จากการดำเนินงานในการปฏิรูปรอบแรก ซึ่งสามารถรวบรวมจากผลการวิจัย ผลการประเมินโครงการต่างๆ และผลการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาทุกฉบับ รวมทั้งรายงานประจำปีของหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำผลการสรุปบทเรียนนั้นมาทำการ ถอดบทเรียน (Lesson Distilled)  ตามเทคนิควิธีการของการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge) ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความรู้ที่เป็นทั้งวิธีการที่ทำให้การปฏิรูปรอบแรกได้ผลหรือที่เรียกว่า  Best Practice และ วิธีการที่ทำให้ล้มเหลว หรือ Bad Practice จากนั้นดำเนินการ ถอดรหัสสำหรับการพัฒนา (Development Decoded) โดยการนำระหัสที่ได้จากการถอดบทเรียนั้นมาถอดออกเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการปฏิรูปการศึกษาในรอบสองต่อไป กระบวนการดังกล่าวจะทำให้ไม่เกิดการผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีไครต้องการให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศไทยอีกแล้ว

กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์